กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม

การจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม

กระบวนการเรียนรู้

การจัดการเรียนรู้กลุ่มสังคมศึกษา  ศาสนาและวัฒนธรรม  ต้องจัดให้เหมาะสมกับวัยและวุฒิภาวะของ      ผู้เรียน  ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมจัดการเรียนรู้ของตนเอง  พัฒนาและขยายความคิดของตนเองจากความรู้ที่ได้เรียน        ผู้เรียนต้องได้เรียนกลุ่มสังคมศึกษา  ศาสนาและวัฒนธรรม  ทั้งในส่วนกว้างและลึก  และจัดในทุกชั้นปี

หลักการเรียนการสอนกลุ่มสังคมศึกษา  ศาสนาและวัฒนธรรม  ให้มีประสิทธิภาพ  ได้แก่

  1. จัดการเรียนการสอนที่มีความหมาย  โดยเน้นแนวคิดที่สำคัญ ๆ ที่ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ทั้งในและนอกโรงเรียน  เป็นแนวคิด  ความรู้  ที่คงทน  ยั่งยืน  มากกว่าที่จะศึกษาในสิ่งที่เป็นเนื้อหาหรือข้อเท็จจริงที่มากมายกระจัดการะจายแต่ไม่เป็นแก่นสาร  ด้วยการจัดกิจกรรมที่มีความหมายต่อผู้เรียนและด้วยการประเมินผลที่ทำให้ผู้เรียนต้องใส่ใจในสิ่งที่เรียน  เพื่อแสดงให้เห็นว่าเขาได้เรียนรู้และสามารถทำอะไรได้บ้าง
  2. จัดการเรียนการสอนที่บูรณาการ  การบูรณาการตั้งแต่หลักสูตร  หัวข้อที่จะเรียนโดยเชื่อมโยงเหตุการณ์  พัฒนาการต่าง ๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบันที่เกิดขึ้นในโลกเข้าด้วยกัน  บูรณาการความรู้  ทักษะค่านิยมและจริยธรรมลงสู่การปฏิบัติจริงด้วยการใช้แหล่งความรู้  สื่อและเทคโนโลยีต่าง ๆ และสัมพันธ์กับวิชาต่าง ๆ
  3. จัดการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนา  ค่านิยม  จริยธรรม  จัดหัวข้อหน่วยการเรียนที่สะท้อน  ค่านิยม  จริยธรรม  ปทัสถานในสังคม  การนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต  ช่วยผู้เรียนให้ได้คิดอย่างมีวิจารณญาณ  ตัดสินใจแก้ปัญหาต่าง ๆ ยอมรับและเข้าใจในความคิดเห็นที่แตกต่างไปจากตน  และรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม
  4. จัดการเรียนการสอนที่ท้าทาย  คาดหวังให้ผู้เรียนได้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้  ทั้งในส่วนตนและการเป็นสมาชิกกลุ่ม  ให้ผู้เรียนใช้วิธีการสืบเสาะจัดการกับการเรียนรู้ของตนเอง
  5. จัดการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติ  ให้ผู้เรียนได้พัฒนาการคิด  ตัดสินใจสร้างสรรค์ความรู้ด้วยตนเอง  จัดการตัวเองได้  มีวินัยในตนเองทั้งด้านการเรียนและการดำเนินชีวิต  เน้นการจัดกิจกรรมที่เป็นจริง  เพื่อให้ผู้เรียนนำความรู้ความสามารถไปใช้ในชีวิตจริง
ขอบข่ายและลำดับประสบการณ์การเรียนรู้

ในการจัดทำหลักสูตรกลุ่มสังคมศึกษา  ศาสนาและวัฒนธรรม  คณะกรรมการสถานศึกษาที่มีหน้าที่พัฒนาหลักสูตรกลุ่มสังคมศึกษา  ศาสนาและวัฒนธรรม  จำเป็นต้องมีความรู้  ความเข้าใจ  ในธรรมชาติของขอบข่ายและการจัดลำดับประสบการณ์การเรียนรู้ (Scope and  Sequence)  เพื่อให้การจัดสาระที่จะเรียนและกิจกรรมการเรียนการสอนเป็นลำดับตามกระบวนการเรียนรู้และธรรมชาติของกลุ่มสังคมศึกษา  ศาสนาและวัฒนธรรม

กลุ่มสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ระดับประถมศึกษา  (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6)

กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา  ศาสนา  และวัฒนธรรมในระดับประถมศึกษาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องจัดทำด้วยความรอบคอบ  เพราะสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา  ศาสนา  และวัฒนธรรมในระดับช่วงชั้นนี้จะต้องเน้นการช่วยเหลือให้ผู้เรียนมีทักษะ  กระบวนการ  และมีข้อมูลที่จำเป็นต่อการที่จะทำให้เขาเป็นพลเมืองที่มีส่วนร่วมและมีความรับผิดชอบในอันที่จะรักษาค่านิยมประชาธิปไตยที่หลอมรวมความเป็นชาติเอาไว้ได้  กลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา  ศาสนา  และวัฒนธรรมในระดับประถมศึกษาต้องเน้นผู้เรียนได้เรียนรู้ว่าพวกเขามีหน้าที่อย่างไร  เน้นให้ผู้เรียนได้แสวงหาและใช้ทักษะ  กระบวนการ  และข้อมูลต่าง ๆ ในโลกของเขาและในสังคม

ผู้เรียนต้องเรียนทุกสาระหลักทั้ง  5  สาระในทุกชั้นปี  สำหรับใน  ชั้นประถมศึกษาการลำดับประสบการณ์การเรียนรู้จะเริ่มจากการให้ผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่เขาคุ้นเคย  ได้เรียนรู้เรื่องราวกับตัวของเขาเองและผู้คนที่อยู่รอบ ๆ ตัวเขา  ตลอดจนสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นที่เขาอยู่อาศัยแล้วเชื่อมโยงประสบการณ์ขยายไปสู่โลกกว้าง  มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาเรื่องความรับผิดชอบ  การร่วมมือกันและการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่าง ๆ เพราะผู้เรียนในวัยนี้เป็นวันที่ไม่อยู่นิ่ง  ชอบสำรวจ  จึงควรให้เขามีส่วนร่วมในการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง  ได้ตัดสินใจเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคม  ได้พัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกันกับผู้เรียน  ทำงานร่วมกับผู้อื่น  มีส่วนร่วมในกิจกรรมของห้องเรียน  ได้ฝึกหัดการตัดสินใจในปัญหาต่าง ๆ และพัฒนาความเป็นพลเมืองดี

การศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเอง  ครอบครัว  โรงเรียนและชุมชน  ควรจะต้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน  และเปรียบเทียบกับผู้อื่น  ครอบครัว  โรงเรียนและชุมชนอื่นในประเทศและในโลกพร้อม ๆ กันไปด้วย  ในลักษณะของการบูรณาการแนวคิดทางประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์  จากการบูรณาการ  แม้ว่าเด็กเล็ก ๆ จะยังมีความเข้าใจเรื่องการลำดับเวลาไม่ค่อยดีนัก  แต่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ควรจะเริ่มตั้งแต่ช่วงชั้นนี้ให้ผู้เรียนได้เข้าใจแนวคิดเรื่องปัจจุบันและอดีต  ในขณะที่เขาศึกษาประวัติความเป็นมาของครอบครัว  ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น  ชุมชน  และวันสำคัญต่าง ๆ

นอกจากนั้นการบูรณาการแนวคิดทางภูมิศาสตร์  ความรู้พื้นฐานทางเศรษฐกิจการทำความเข้าใจในบรรทัดฐาน  ค่านิยมประชาธิปไตย  คุณธรรมของศาสนาที่ตนนับถือ  และจริยธรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความยุติธรรม  ความเสมอภาค  ความรับผิดชอบ  เสรีภาพ  บูรณภาพ  ความรักชาติ  ความซื่อสัตย์  ความกล้าหาญ  ความเมตตา  กรุณา  เรื่องของอำนาจ  ลัทธิอำนาจและกฎหมายเหล่านี้  เป็นต้น  เป็นสาระและประสบการณ์ที่สำคัญของหลักสูตรในช่วงชั้นที่ 1  นี้ด้วย

โดยสรุปกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา  ศาสนา  และวัฒนธรรม  ในช่วงนี้ควรมีลักษณะดังนี้

  • มีลักษณะบูรณาการ โดยนำประเด็นแนวคิดทางสังคมศึกษา  ศาสนา  และวัฒนธรรมทั้ง  5  สาระมาบูรณาการในการเรียน
  • ให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์รอบ ๆ ตัว ตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน  เพื่อนบ้าน  และชุมชนในสังคมอื่นทั้งในระดับประเทศและโลก
  • ควรพัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องกาลเวลา อดีต  ปัจจุบัน  ในขณะที่ศึกษาประเด็นต่าง ๆ ทั้งในบริบทตนเอง  ครอบครัว  โรงเรียน  เพื่อนบ้าน  และชุมชน  เพื่อเป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจเรื่องสถานที่และเวลาในชั้นที่สูงขึ้น

กลุ่มสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ระดับ ประถมศึกษา (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4–6)

ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่  4– 6 ผู้เรียนควรจะได้ศึกษาเปรียบเทียบเรื่องราวของจังหวัดและภาคที่อยู่อาศัยในประเทศไทยกับของภูมิภาคอื่นในโลก  การศึกษาเช่นนี้จะทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาแนวคิดเรื่องภูมิภาค  เพื่อขยายประสบการณ์ไปสู่การทำความเข้าใจในภูมิภาคซีกโลกตะวันออกและซีกโลกตะวันตกเมื่อได้เรียนในช่วงชั้นสูงขึ้นต่อไป

การศึกษากลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา  ศาสนา  และวัฒนธรรมในปีแรกของช่วงชั้นนี้อาจเริ่มตั้งแต่การศึกษาเรื่องราวของจังหวัดและภาคของตน  ทั้งเชิงประวัติศาสตร์  ลักษณะทางกายภาพ  สังคมและวัฒนธรรม  การเมืองการปกครองและสภาพเศรษฐกิจ  ส่วนอีก  2  ปีถัดไป  คือ  ช่วงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5– 6  จะเน้นการศึกษาความเป็นประเทศไทยให้มากขึ้น  รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านของไทย  ซึ่งไม่จำเป็นต้องศึกษาทุกประเทศอาจเลือกเป็นกรณีศึกษาเพื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทย

ในการศึกษาประเทศอื่นในภูมิภาคต่าง ๆ ผู้เรียนจะได้พัฒนาความเข้าใจศาสนา  สังคม  วัฒนธรรม  และค่านิยม  จริยธรรม  ที่ผู้คนในประเทศนั้น ๆ ยึดถืออยู่  รวมทั้งสภาพเศรษฐกิจการเมืองการปกครอง  ตลอดจนประวัติศาสตร์ของประเทศเหล่านั้น  ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนได้เข้าใจว่าสภาพสังคมในที่ต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาอย่างไร  มนุษย์มีส่วนร่วมต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างไร  สภาพสังคมพัฒนามาสู่ปัจจุบันอย่างไร  และแนวโน้มจะเป็นอย่างไรในอนาคต

ขณะที่ศึกษาเรื่องราวของจังหวัด  ภาค  ประเทศไทย  ประเทศใกล้เคียงและภูมิภาคอื่นในโลก  ในลักษณะกรณีศึกษานี้  ควรให้ผู้เรียนได้สำรวจแนวคิดต่าง ๆ ทางสังคมศาสตร์ประเด็นคำถามเพื่อการเรียนรู้ในช่วงชั้นนี้ได้แก่

  • ผู้คนในสังคมนั้นเป็นอย่างไร มีค่านิยม  จริยธรรมและความเชื่ออย่างไร (มานุษยวิทยา  จิตวิทยา  สังคมวิทยา  ศาสนา  และจริยธรรม)
  • สภาพแวดล้อมที่ผู้คนในสังคมนั้นอาศัยอยู่เป็นอย่างไร (ภูมิศาสตร์)
  • สังคมนั้นมีการจัดระเบียบทางสังคมอย่างไร (การเมืองการปกครอง)
  • ผู้คนเหล่านี้ดำเนินชีวิตกันอย่างไรในสังคมนั้น (เศรษฐศาสตร์)
  • สังคมนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรจากอดีตสู่ปัจจุบัน (ประวัติศาสตร์)

ประสบการณ์การเรียนรู้จากระดับประถมศึกษายังคงขยายต่อเนื่องมาในระดับมัธยมศึกษา  ผู้เรียนคงต้องได้เรียนเรื่องราวความเป็นไปในโลกจากการศึกษาประเทศของตนเอง  เปรียบเทียบกับการศึกษาความเป็นไปในของประเทศต่าง ๆ ในซีกโลกตะวันออก  เพื่อพัฒนาแนวคิดเรื่องการอยู่ร่วมโลกเดียวกันที่ต้องพึ่งพากัน

นอกจากซีกโลกตะวันออกแล้ว  ผู้เรียนควรได้ขยายประสบการณ์ต่อไปยังซีกโลกตะวันตกเพื่อเปรียบเทียบประเทศไทยกับซีกโลกตะวันออก  การศึกษาภูมิภาคในโลกช่วงชั้นนี้พร้อม ๆ กับการศึกษาประเทศไทย  ได้แก่  การศึกษาภูมิภาคในเอเซีย  โอเซียเนีย  แอฟริกา  ยุโรป  อเมริกาเหนือ  อเมริกาใต้  ทั้งในด้านภูมิศาสตร์  ประวัติศาสตร์  สังคมและวัฒนธรรม  เศรษฐกิจ  การเมืองการปกครอง  ค่านิยม  ศาสนาและจริยธรรม  ด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์และสังคมศาสตร์  ทั้งในอดีต  ปัจจุบัน  และสร้างมุมมองในอนาคตด้วยประเด็นคำถามเพื่อการเรียนรู้ในช่วงชั้นนี้ยังคงเช่นเดียวกับการเรียนในช่วงชั้นที่ 2  นั่นคือ

– ผู้คนในสังคมนั้นเป็นใคร  พวกเขายึดมั่นในศาสนา  จริยธรรม  ค่านิยม  ความเชื่ออะไรบ้าง (มานุษยวิทยา จิตวิทยา สังคมวิทยา ศาสนาและจริยธรรม )

          –  สังคมนั้นมีการจัดระเบียบทางสังคมอย่างไร (การเมือง  การปกครอง)

–  ผู้คนในสังคมนั้นดำเนินชีวิตกันอย่างไร (เศรษฐศาสตร์)

–  สังคมนั้นมีพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงเป็นมาอย่างไร  (ประวัติศาสตร์)

–  สภาพแวดล้อมที่เขาอาศัยอยู่เป็นอย่างไร (ภูมิศาสตร์)